วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2554


     มนุษย์ถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ เป็นของขวัญที่ธรรมชาติได้กำหนดให้มนุษย์เป็นผู้สร้างมนุษย์ให้กำเนิดเกิด ขึ้นมาอีกที ความซับซ้อนในธรรมชาติของมนุษย์จึงส่งผลถึงสมองที่เป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุด ของมนุษย์เรา สมองถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางในการควบคุมกลไกในการทำงานทุกส่วนของร่างกาย ฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างมากที่จะต้องให้ความสำคัญกับสมอง มนุษย์จึงได้คิดค้นหลากหลายวิธีที่จะมาเป็นตัวช่วยในการพัฒนาสมองให้มีความ เติบโตเจริญก้าวหน้าไปพร้อมกับร่างกายที่ก็ต้องเจริญเติบโตด้วยเช่นกัน ฉะนั้นสมองจึงเป็นเหมือนตัวเอกที่สำคัญไม่แพ้หัวใจที่จะต้องมีการลื่นไหลไป พร้อมกัน ตรงนี้นี่เองจึงได้มีวิธีที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของสมองให้ดีมากขึ้น ด้วยการใช้ดนตรีมาเป็นตัวช่วยให้เด็กได้มีการพัฒนาการทางด้านสมอง



          หากจะบอกว่าดนตรีคือชีวิต และชีวิตคือดนตรีก็คงไม่ผิดนัก เพราะมนุษย์สามารถรับรู้เสียงได้ตั้งแต่ตอนอยู่ในครรภ์มารดา ทารกจะรับรู้และได้ยินเสียงได้ทั้งจากภายนอกและภายในครรภ์ของแม่ได้ ซึ่งเสียงที่ได้ยินจากภายนอกก็เช่น เสียงของคุณพ่อคุณแม่ที่พูดคุยกับลูก และการเปิดเพลงเบาๆ ที่ฟังสบายๆ ให้ลูกได้ฟังตั้งแต่ตอนที่อยู่ในครรภ์ เสียงเหล่านี้จะถูกส่งผ่านเป็นคลื่นเสียงเข้าไปถึงลูก ลูกก็จะรับรู้สิ่งที่ได้ยินนั้นเรียกว่า คลื่นเสียง ส่วนเสียงที่ทารกจะได้ยินจากภายในนั้นก็เช่น เสียงเต้นของหัวใจ ได้ยินเสียงที่เกิดจากเลือดไหลในหลอดเลือดเข้ามาที่มดลูกตลอดเวลา บางครั้งก็ได้ยินเสียงน้ำจ้อกแจ้กจากกระเพาะของแม่ เสียงต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้ลูกได้มีประสบการณ์ขั้นต้น เกี่ยวกับเสียงดนตรี สำหรับเสียงดนตรีที่ลูกได้ยินอยู่ตลอดเวลาตอนที่ยังอยู่ในท้องนั้นก็คือ เสียงการเต้นของหัวใจแม่ และพอทารกคลอดออกมาเสียงแรกที่ลูกจะคุ้นมากที่สุดก็คือเสียงเต้นของหัวใจแม่ ขณะที่ลูกดูดน้ำนมจากอกแม่ จะเห็นได้ว่าสมองของลูกได้ถูกพัฒนามาโดยตลอดตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เริ่มรับรู้สิ่งที่ได้ยินเป็นแบบคลื่นเสียง จนกระทั่งเมื่อแม่ได้ให้กำเนิดคลอดลูกออก หากลูกได้มีการพัฒนาต่อเกี่ยวกับของเสียงดนตรี สมองของลูกก็จะถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนอาจพูดได้ว่าไม่มีที่สิ้นสุด เพราะเสียงทุกอย่างที่ได้ยินนั้นถ้าฟังดีๆ ก็คือเสียงดนตรีนั่นเอง


ดนตรีกับสมองเกี่ยวกันอย่างไร

          คงทราบกันดีอยู่แล้วว่าสมองของคนเรานั้นมีหน้าที่ในการคิด และควบคุมการทำงานของร่างกาย โดยสมองแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ สมองซีกซ้าย กับ สมองซีกขวา ซึ่งก็มีบทบาทและหน้าที่ที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
สมองซีกขวา มีบทบาทในการรับรู้และตอบสนอง มีจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ มีดนตรีและศิลปะ การคิดค้นรูปแบบใหม่ๆ รวมถึงสมองซีกขวายังควบคุมการทำงานของร่างกายซีกซ้ายอีกด้วย
สมองซีกซ้าย มีบทบาทในการรับรู้ตอบสนอง และคิดในเชิงเหตุผล มีการลำดับขั้นตอนในการทำงาน เรื่องของคณิตศาสตร์ การพูด และรวมถึงสมองซีกซ้ายยังควบคุมการทำงานของร่างกายทางซีกขวาอีกด้วย


     ฉะนั้นการเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ของสมองทั้งสองซีกจะรับรู้และมีบทบาทร่วมกัน เพื่อนำมาบูรณาการการรับรู้ หรือการกระทำให้ครบถ้วนสมบูรณ์แบบ ในส่วนของดนตรีที่มาเกี่ยวข้องต่อการพัฒนาสมองนั้นได้มีการศึกษาว่าดนตรี ช่วยพัฒนาสมองทั้งสองซีก คือทั้งสมองซีกซ้ายและสมองซีกขวา ดนตรีมีอิทธิพลต่อการรับรู้ ดนตรีที่มีจังหวะฟังสบายๆ นั้นมีโครงสร้างซับซ้อน ทำให้การรับรู้สิ่งต่างๆ ของสมองนั้นง่ายขึ้น ดนตรีมีส่วนช่วยพัฒนาเชาว์ปัญญาในเด็กเล็กๆ จากการทดลองของ ดร.ฟรานซิส เราน์เชอร์ รองศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ออธโดช ในเด็กอายุระหว่าง 3-4 ปี โดยแบ่งให้เด็กทั้งสองกลุ่มคือ กลุ่มแรกมีกิจกรรมประกอบดนตรี และกลุ่มที่สองไม่มีกิจกรรมประกอบดนตรี พบว่าเด็กกลุ่มแรกมีการรับรู้ทางเชาว์ปัญญาได้ดีกว่า หลังจากที่ได้ทำการทดลอง 4 เดือน นอกจากนี้การศึกษาดนตรี ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎเกณฑ์ต่างๆ นั้นก็ช่วยให้สมองซีกซ้ายพัฒนาไปด้วย จะเห็นได้ว่าดนตรีมีส่วนช่วยพัฒนาสมองทั้งสมองซีกซ้ายและสมองซีกขวา



งานวิจัยทางดนตรี ที่พบว่าดนตรีมีส่วนช่วยพัฒนาสมองเด็ก

        ดร.ฟรานซิส เราน์เชอร์ เจ้าของงานวิจัย “Mozart Effect” ที่ค้นพบว่าเพลงของโมสาร์ททำให้สติปัญญามนุษย์ในส่วนของมิติสัมพันธ์เพิ่ม ขึ้น เผยว่าแรกเริ่มนั้นตัวเขาจบปริญญาตรี ด้านดนตรีเอกเชลโล่ ก็ตั้งข้อสงสัยว่าทำไมถึงชอบดนตรีเป็นพิเศษ จึงศึกษาต่อด้านจิตวิทยา กระทั่งค้นพบทฤษฎีดังกล่าว แต่โดยส่วนตัวแล้วตนเป็นคนที่ฟังเพลงได้ทุกแนว คุณพ่อของเขาก็เล่นดนตรีแจ๊ส งานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้บังคับให้ทุกคนฟังเพลงของโมสาร์ท และไม่ต้องการให้ยึดติดกับคำว่าโมสาร์ท เพราะดนตรีแต่ละท้องถิ่นต่างก็มีอิทธิพลต่อคนฟังทั้งนั้น แต่หากต้องการพัฒนาด้านการรับรู้นั้น พ่อแม่จะต้องให้เด็กคุ้นเคยกับดนตรีต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 2 ปี และต้องเริ่มก่อนเด็กอายุ 7 ขวบ เพราะเป็นช่วงที่สมองจะมีการเชื่อมโยง และแตกแขนงในส่วนที่ใช้งานเพื่อการพัฒนาได้เป็นอย่างดี


        ดร.ฌอน ฮินตัน นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องบทบาทของดนตรีที่มีผลต่อโครงสร้าง และการทำงานของสมองมนุษย์ ได้เปรียบเทียบว่านักดนตรีที่ได้มีการฝึกฝนมาตั้งแต่เด็กก่อนวัย 7 ขวบ จะมีเยื่อประสาทใหญ่กว่าของคนที่ไม่ใช่นักดนตรี ส่วนในเพลงโมสาร์ทนั้นเป็นดนตรีคลาสสิกที่เหมือนสมการเลขเชิงคณิตศาสตร์ มีมุมมอง ความกว้าง ยาว สูง และช่วงเวลา โดยอธิบายออกมาทางตัวโน้ตดนตรีได้อย่างสลับซับซ้อนแต่ลงตัว



       ดนตรีนอกจากจะทำให้มนุษย์ได้เพลิดเพลินแล้ว ดนตรีก็ยังเป็นตัวช่วยสำคัญที่ส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาสมองของเด็ก และยิ่งถ้าหากคุณพ่อคุณแม่ได้เริ่มการพัฒนาสมองของลูกตั้งแต่ลูกยังอยู่ใน ครรภ์ก็จะยิ่งเป็นผลดีต่อตัวเด็กเอง และ “ดนตรีมีส่วนพัฒนาสมอง” อย่างไร ดร.สุกรี เจริญสุข ผู้อำนวยการวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางด้านดนตรีจะมาถ่ายทอดถึงเรื่องของดนตรีให้ทราบกัน ค่ะ



ดนตรีมีส่วนช่วยพัฒนาสมองของเด็กได้อย่างไร

       ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าดนตรีเป็นเรื่องของเสียง เสียงเป็นสิ่งแวดล้อม เด็กที่อยู่ในท้องของแม่นั้นก็มี DNA มาจากพ่อกับแม่ ฉะนั้นเด็กคลอดออกมาแล้วเด็กก็จะเป็นลูกของสิ่งแวดล้อม แล้วสิ่งแวดล้อมที่เรามองไม่เห็นนั้นก็คือ เสียง ซึ่งจะอยู่กับเด็ก 24 ชั่วโมงตลอดเวลาเลย พัฒนาการของสมองก็จะเกี่ยวข้องกับเสียง เพราะเสียงเป็นเรื่องของความเคลื่อนไหว เสียงเป็นพลังงาน เมื่อเสียงเป็นพลังงานเป็นคลื่นเสียง เป็นประจุไฟฟ้า เสียงมีอำนาจก็จะทำให้เกิดความเคลื่อนไหว ความเคลื่อนไหวที่เกิดจากเสียงก็จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงก็จะทำให้เกิดการพัฒนา เมื่อมีการพัฒนาขึ้นแล้วก็จะมีการเจริญต่อไปได้ เข้าใจให้ง่ายเลยก็คือ ถ้าไม่มีเสียงเด็กก็จะไม่พัฒนา เพราะว่าพลังงานก็ไม่ทำงาน


ควรที่จะให้ดนตรีกับเด็กตั้งแต่ตอนไหน

        ดนตรีนี้ให้กันมาตั้งแต่เด็กอยู่ในท้องของแม่แล้วครับ แม่ให้ลูกฟังดนตรีแล้วแม่ก็ลูบท้องเป็นจังหวะเบาๆ ไปด้วย เพราะว่าความเคลื่อนไหวเหล่านี้ทำให้เกิดการพัฒนา ทำให้เกิดการสร้างความเจริญ เมื่อแม่คลอดลูกออกมาแล้วแม่ให้ฟังเพลง แม่พูดจาเพราะๆ ให้ลูกฟัง สอนลูกด้วยการร้องเพลงให้ลูกฟัง คือเป็นการสอนโดยการเอาเสียงให้ลูกฟังด้วยความรัก ความชอบ ลูกก็จะเติบโตขึ้นมาด้วยความอบอุ่น


ดนตรีที่เหมาะกับเด็ก

     ดนตรีที่ให้เด็กฟังนั้น ส่วนหนึ่งเป็นดนตรีที่แม่เลือกมาแล้วว่าดีและเหมาะกับลูก คือแม่ได้เลือกได้คัดสรรมาแล้ว แม่อยากฟังอะไรแม่ชอบเพลงอะไรเห็นว่าดีก็จะนำไปให้ลูกฟัง ดนตรีในส่วนนี้จะเป็นดนตรีที่ผมคิดว่าแม่ทุกคนย่อมหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับ ลูกครับ ดนตรีดีๆ ของแม่คือดนตรีดีๆ ของลูก ในเมื่อแม่ได้เลือกแล้ว และก็เป็นดนตรีที่แม่ชอบ ไม่ว่าจะดนตรีชนิดไหนก็ใช่ก็เหมาะกับลูกทั้งนั้นครับ เพราะแม่ทุกคนย่อมต้องการสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกของตนเองอยู่แล้ว


ดนตรีที่ให้กับเด็กจำเป็นว่าจะต้องเป็นเพลงของโมสาร์ทหรือเปล่า

        ดนตรีที่ให้กับเด็กนั้นได้ทุกแนวครับ ตั้งแต่ดนตรีหมอลำจนกระทั่งดนตรีคลาสสิก แต่คำว่า คลาสสิก คนส่วนใหญ่มักที่จะเข้าใจว่าเป็นดนตรีชั้นสูง สำหรับผมอะไรก็ตามที่ละเอียดนี่คลาสสิกหมด ความละเอียดคืออย่างพ่อแม่ร้องเพลงให้ลูกฟังด้วยความรักและความผูกพัน (ตรงนี้คลาสสิกมาก) พ่อแม่จะไม่ร้องเพลงให้คนอื่นฟัง แต่จะร้องให้ลูกฟังเพียงคนเดียวเพราะลูกคือคนที่พิเศษที่สุดสำหรับชีวิต แล้วเพลงที่พ่อแม่ร้องกล่อมลูกก็มาจากหัวใจ ฉะนั้นตรงนี้คลาสสิกครับ คลาสสิกแปลว่า ละเอียดอ่อน ละมุนละไม ตั้งใจ และทำด้วยความรู้สึกเต็มพิกัดครับ


พ่อแม่จะพัฒนาสมองลูกด้วยดนตรีอย่างไร

      ให้เริ่มจากความรักก่อนครับ เริ่มจากความรักแล้วก็ร้องเพลงที่ดีให้ลูกฟัง กล่อมลูกให้นอนตบก้นลูกเบาๆ ด้วยความทะนุถนอม เป็นจังหวะ สัมผัสที่เกิดจากความรู้สึก ความรู้สึกที่สัมผัสด้วยความละมุนละไมที่เป็นความอบอุ่น ทั้งหมดนี้ก็คือดนตรีที่เกิดขึ้นไม่รู้จบและสามารถพัฒนาสมองของลูกได้แบบ ง่ายๆ จากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่พ่อแม่สามารถจะให้กับลูกได้


     ดนตรีคงจะไม่ใช่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของการสร้างสีสัน หรือความบันเทิงใจให้กับชีวิตเท่านั้น แต่ดนตรีเป็นเรื่องที่ถ้าหากพ่อแม่ได้ใส่ใจแล้วปลูกฝังให้กับเด็กๆ ตั้งแต่ยังเล็กอยู่นั้น ก็จะสามารถช่วยพัฒนาความสามารถของเด็กได้หลายด้าน เช่น ด้านภาษา ด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เป็นต้น แต่ทั้งนี้การให้จังหวะดนตรีเพื่อมาพัฒนาสมองของลูก ก็ต้องมาพร้อมกับจังหวะหัวใจของพ่อแม่ที่รักลูกแบบถูกทาง และเป็นไปตามความเหมาะสม เพื่อลูกจะได้พัฒนาไปในทางที่ดีได้


แหล่งที่มา

12 เทคนิค พัฒนาทักษะการคิดให้ลูก


          เนื่องจากการคิดเป็นรากฐานหรือแกนสำคัญของทักษะการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน ดังนั้น ถ้าทักษะการคิดไม่ดี ทักษะทั้งสี่ด้านนี้ก็จะไม่ดีตามไปด้วย
    มีรายงานการศึกษาเปรียบเทียบวิธีการสอนเด็กอนุบาลวัย 4 ขวบ ที่โรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งในเมือง ชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าเมื่อเวลาผ่านไปเด็กกลุ่มที่ได้รับการสอนทักษะการคิดมีความสามารถทางด้านการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียนดีกว่าเด็กกลุ่มที่ไม่ได้รับการสอน ดังนั้น การพัฒนาคนจึงควรเริ่มพัฒนาที่ความคิดก่อน ความคิดจะช่วยสร้างทั้ง 4 ด้านที่กล่าวไว้ข้างต้นให้ก้าวหน้ามากขึ้นและยั่งยืน
          โดยทั่วไป เด็กแต่ละคนมีความสามารถในการคิดและการรับรู้ตั้งแต่วินาทีแรกที่ลืมตาดูโลก ซึ่งวิธีการคิด และการเรียนรู้ของเด็กจะเปลี่ยนแปลงไปตามระยะของพัฒนาการตามวัยและระดับการเจริญเติบโตทางสติปัญญา นอกจากนี้ ความสามารถในการสื่อสารของเด็กเป็นองค์ประกอบที่สำคัญติดตามเด็กตั้งแต่อายุ 2 ปี จนถึงอายุ 6 ปี พบว่าเด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับการสื่อสาร รวมทั้งมีปัญหาเกี่ยวกับการรับรู้มักจะมีความบกพร่องทางการคิด และมีปัญหาเกี่ยวกับการอ่านและการเขียน โดย เด็กจะอ่านและเขียนช้ากว่าและมีข้อจำกัดในการเชื่อมโยงความคิดและเหตุการณ์ต่าง ๆ มากกว่าเด็กที่ไม่มีปัญหา
         จะเห็นว่าการพัฒนาทักษะการคิดให้เด็กเป็นงานที่นับว่าจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเด็กควรได้รับการเตรียมและปูพื้นฐานการคิด ซึ่งเป็นแกนสำคัญของการพัฒนาทักษะอื่น ๆ ต่อไป ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการเตรียมพื้นฐานการคิดตลอดจนการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการของเด็กให้ปรากฏ
เทคนิคสำคัญในการพัฒนาทักษะการคิด
         ในการพัฒนาทักษะการคิดหรือฝึกเด็กให้เป็นนักคิดที่ดีมีหลายวิธี ซึ่งการเลือกใช้วิธีใดนั้นอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและที่สำคัญจะต้องคำนึงปัจจัยในตัวเด็กเองด้วย เช่น ลักษณะนิสัยใจคอ สิ่งที่เด็กชอบ หรือสนใจระดับสติปัญญา เป็นต้น ซึ่งผู้ฝึกอาจพิจารณาเป็นราย ๆ ไปว่า ควรใช้วิธีใดจึงเหมาะสม
      ทั้งนี้เพื่อให้ได้ประสิทธิผลจากการฝึกมากที่สุด ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างเทคนิคสำคัญในพัฒนาทักษะการคิด ให้เกิดขึ้น
  1.  การฝึกควรเริ่มฝึกเด็กให้คิดจากสิ่งที่ง่ายก่อนแล้วจึงไปสิ่งที่ยากขึ้น
  2. เตรียมเด็กโดยการกระตุ้นหรือส่งเสริมให้เด็กสนใจสิ่งที่อยู่รอบตัว และสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ
  3. การฝึกควรกำหนดจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ทุกครั้ง
  4. สร้างนิสัยความอยากรู้ อยากเห็น และการค้นคว้าฝ่ารู้ให้เด็ก
  5. ใช้หัวข้อที่เด็กคุ้นเคย รู้จัก หรือสนใจ แล้วกำหนดเป็นคำถาม
  6. สอนและฝึกให้เด็กรู้จักการเปรียบเทียบ ความเหมือน และความแตกต่าง
  7. ฝึกให้เด็กหัดเชื่อมโยงรูปภาพ สถานการณที่จำลองกับของจริง
  8. จัดเตรียมคำถามที่กระตุ้นให้เด็กหรือจินตนาการ และให้โอกาสเด้กได้สื้อออกมาถึงพลังความนึกคิดควบคู่ไปกับทักษะการแก้ปัญหา
  9. พัฒนาทักษะการคิดควบคู่ไปกับทักษะการแก้ปัญหา
  10. สนับสนุนและส่งเสริมให้เด็กมีอิสระในการคิด การถาม และการแสดงออก
  11. สร้างความมั่นใจ พร้อมทั้งให้กำลังใจ
  12. ให้เวลาในการคิด ไม่เร่งรัด เพราะอาจทำให้เด็กเกิดความเครียด และไม่ควรจำกัดการคิดของเด็ก
          เทคนิคทั้ง 12 ข้อที่กล่าวมานี้จะช่วยให้การฝึกเด็กให้หัดคิดมีประสิทธิภาพ และพัฒนาเป็นนักคิดที่ดีต่อไป คุณพ่อคุณแม่ที่อยากให้ลูกเป็นนักคิดที่ดี ก็ต้องเตรียมลูกให้พร้อม และฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอตามที่ได้กล่าวไว้ ข้างต้นว่าวิธีการฝึกให้เด็กเป็นนักคิดสามารถทำได้หลายรูปแบบ ซึ่งจะเลือกใช้วิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ที่สำคัญคือวิธีการที่ใช้นั้นควรเอื้อให้เด็กได้เรียนรู้และมีโอกาสใช้ความคิดของตัวเอง และควรดำเนินไปตามธรรมชาติ ไม่เร่งรัด แต่มีความสม่ำเสมอต่อเนื่อง รวมทั้งต้องตอบสนองความต้องการตามวัยและพัฒนาการของเด็กเองด้วย
แหล่งที่มา

การส่งเสริมการคิดแก้ปัญหา

             สำหรับการคิดแก้ปัญหานั้นเป็นการคิดที่ต้องใข้ความสามารถของสมองและประสบการณ์เดิม  เพื่อนำมาใช้ในการแก้ปัญหา การแก้ปัญหาจึงเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายอย่าง จึงเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายนักในการที่จะส่งเสริมให้เด็กได้มีทักษะในการคิดแก้ปัญหา  สำหรับแนวทางในการส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาพอจะกล่าวได้ดังนี้
            1. การให้ความรักความอบอุ่นแก่เด็ก  ทำให้เด็กมีความรู้สึกปลอดภัย  มีความสุข  มีความเชื่อมั่นในตนเอง และมองโลกในแง่ดี
            2. เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความคิดเห็น  และตัดสินใจ  เพื่อช่วยให้เด็กกล้าแสดงออก  และมีความเชื่อมั่นในตนเอง
            3.ฝึกให้เด็กเป็นคนช่างสังเกต  โดยการจัดประสบการณ์ให้มีการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง  5   เพื่อการรับรู้ในทุกด้าน มีผู้ใหญ่คอยให้การสนับสนุนและคอยดูแลช่วยเหลือ
            4.ส่งเสริมให้เด็กได้ช่วยเหลือตนเองให้เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก  ซึ่งจะเป็นพื้นฐานการด้านบุคลิกภาพคือความเชื่อมั่นในตนเองทำให้ส่งผลต่อการคิดแก้ปัญหาของเด็ก
            5.แสดงความชื่นชมเมื่อเด็กทำในสิ่งที่ดีงามและทำให้เด็กเกิดความมั่นใจเมื่อเด็กทำ
สิ่งที่ดีงาม
อันจะทำให้เด็กมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง  และมีกำลังใจในการจะทำความดีและสิ่งดีงาม
            6.จัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาความคิดแก้ปัญหาของเด็ก  และมีบรรยากาศที่ทำให้เด็กได้รู้สึกสบายใจ  ไม่เคร่งเครียด  สภาพแวดล้อมดังกล่าวจะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาทักษะการคิด
            ทั้งหมดนี้คงจะเป็นแนวทางในการที่พัฒนาความคิดแก้ปัญหาสำหรับเด็กของเราได้ต่อไป

แหล่งที่มา
http://rb1curicurriculum.blogspot.com/2010/01/blog-post_01.html

การคิดและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย

ผู้แต่ง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัญชลี ไสยวรรณ


          การคิดเป็นกระบวนการทำงานของสมองที่มีประสิทธิภาพ ส่วนหนึ่งมาจากการฝึกฝน เช่นเดียวกับการป้อนข้อมูลต่าง ๆ เข้าไปในสมองเพื่อให้สามารถเก็บข้อมูลได้มากขึ้น แต่การฝึกสมองให้สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดไม่ใช่เรื่องของการจำอย่างเดียว เพราะถึงแม้การจำจะเป็นสิ่งที่จำเป็น เป็นสิ่งสำคัญและมีประโยชน์ แต่ก็เป็นเพียงขั้นพื้นฐานของสมองที่จะต้องมีการจำความรู้เพื่อนำไปใช้ในขั้นตอนต่อไป บางครั้งการจำไม่ได้ทำให้เกิดการเรียนรู้ แต่อาจไปสกัดกั้นการทำความเข้าใจเนื้อหาของความรู้ ความจริงแล้วการฝึกให้สมองสามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเป็นเรื่องของการคิด เพราะถ้าหากสมองคิดเป็นก็เรียกได้ว่าคน ๆ นั้นเป็นคนที่มีศักยภาพมีประสิทธิภาพ การคิดเป็นการทำงานของสมองที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เพียงแต่ว่าเราจะต้องจัดการเรียนรู้หรือจัดสิ่งกระตุ้นให้มากพอที่สมองจะได้ฝึกคิด การคิดสามารถพัฒนาและฝึกฝนได้

           รูปแบบการเรียนรู้ปัจจุบันจำเป็นต้องสร้างให้ผู้เรียนเป็นฝ่ายรุกนั้นคือกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ ใฝ่รู้ รู้จักคิดตั้งคำถามและคิดค้นหาคำตอบ ให้โอกาสผู้เรียนได้แสดงความคิด วิเคราะห์และหาข้อสรุป และเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ผู้เรียนฝึกฝนการคิดคือมีทักษะการคิด ลักษณะการเรียนรู้ดังกล่าวเป็นผลมาจากนักการศึกษาในปัจจุบันได้นำเอาความรู้ในเรื่องการคิดและการเรียนรู้ทางจิตวิทยาและทางชีววิทยามาเป็นพื้นฐานในการพัฒนาการคิดของเด็กในชั้นเรียนเพื่อเป็นทักษะพื้นฐานสำคัญที่ใช้ในการเรียนรู้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียนต่อไป

           เด็กอายุ 8 ปีแรกของชีวิตเป็นช่วงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาการทางการคิดและการเรียนรู้เกี่ยวกับโลกรอบตัวของเขา เรารู้ข้อมูลเหล่านี้จากนักจิตวิทยาโดยเฉพาะนักจิตวิทยาการเรียนรู้ ระหว่างศตวรรษที่ 20 คำถามสำคัญคือ การคิดของเด็กเล็ก ๆ แตกต่างจากผู้ใหญ่หรือไม่ หรือมันเป็นการขาดประสบการณ์ของเด็กหรือไม่ สำหรับประเด็นที่ว่า เด็กเรียนรู้อย่างไร ได้ศึกษาโดยนักการศึกษา นักปรัชญา นักจิตวิทยา เช่น พาฟลอฟ ทอนไดค์ สกินเนอร์ ให้ความสำคัญในอิทธิพลของแนวทางที่เน้นการสอน (เด็กถูกสอน) ประมาณ ค.ศ. 1950-1959 นักจิตวิทยาและนักการศึกษาให้ความสำคัญมากในการเรียนอย่างเข้มข้น ต้องการการเสริมแรง และเชื่อว่าหลักการเรียนรู้อยู่บนพื้นฐานการกระตุ้นและการตอบสนอง
          
          พิอาเจท์และอินเฮลเดอร์ (Piaget and Inhelder. 1969 : 58) อธิบายว่า การคิดหมายถึง การกระทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยปัญญา การคิดของเด็กเป็นกระบวนการใน 2ลักษณะคือ เป็นกระบวนการปรับโครงสร้างโดยการจัดสิ่งเร้าหรือข้อความที่ได้รับจริงให้เข้ากับประสบการณ์เดิมที่มีอยู่กับกระบวนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างโดยการปรับความจริงที่รับรู้ใหม่ให้เข้ากับประสบการณ์เดิม เด็กใช้การคิดทั้งสองลักษณะนี้ร่วมกันหรือสลับกันเพื่อปรับความคิดของตนให้เข้าใจสิ่งเร้ามากที่สุด ผลของการปรับเปลี่ยนการคิดดังกล่าวช่วยพัฒนาวิธีการคิดของเด็กจากระดับหนึ่งไปสู่การคิดอีกระดับหนึ่งที่สูงกว่า ไอแซคส์ (Isaacs)ช่วยให้เราเข้าใจธรรมชาติของการเรียนรู้ของเด็กจากการศึกษาของเขาโดยการสังเกตและจดบันทึก โดแนลด์สัน (David.1999: 2-3 ;citing Donaldson.nd) อธิบายว่า ปัญหาการสื่อสารระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ เป็นสาเหตุให้เด็กเกิดความล้มเหลวในการเรียนรู้ได้ ดังนั้นผู้ใหญ่จะต้องพยายามคิดว่าทำอย่างไรจะบรรลุความสำเร็จที่จะเข้าใจความคิดและภาษาของเด็ก และอธิบายเพิ่มเติมว่า การจัดประสบการณ์ให้กับเด็กทำให้เด็กเกิดความเข้าใจเป็นพื้นฐานที่นำไปสู่การคิดเป็นนามธรรมต่อไป เด็กจะไม่ประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ถ้าเขาไม่ได้เรียนรู้จากการปฏิบัติด้วยตนเอง

          ภาษามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการเรียนรู้และความเข้าใจ บรูเนอร์ (Bruner. 1993) และไวกอตสกี้ (Vygotsky. 1978) ให้ความสำคัญเรื่อง ภาษา การสื่อสาร และการสอนเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาทางสติปัญญา และพัฒนาการส่วนบุคคล การแสดงออกของผู้ใหญ่ในฐานะผู้ช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ (Scaffolding)จะทำให้เด็กเข้าใจโลกรอบตัวของเขา เด็กบางคนไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หรือไม่สามารถจำประสบการณ์ของตนได้ ถ้าผู้ใหญ่ให้ความช่วยเหลือ หรือแนะนำอาจทำให้เขาประสบความสำเร็จได้ด้วยตนเอง
          บรูเนอร์ (Bruner) พัฒนาแนวคิดของ เนลสัน (Nelson) เกี่ยวกับความคิดเรื่อง ผู้ใหญ่ในฐานะที่เป็นผู้ช่วยเหลือ หรือให้คำแนะนำ (Scaffolding) การเรียนรู้ของเด็กและไวกอตสกี้ (Vygotsky) ค้นพบเรื่อง “Zone of Proximal Development” เพื่ออธิบายช่องว่างระหว่างสิ่งที่เด็กสามารถทำได้ด้วยตนเองและสิ่งที่เด็กสามารถประสบความสำเร็จด้วยการช่วยเหลือของคนอื่นส่งผลให้เด็กมีระดับการคิดเพิ่มขึ้น ระดับการคิดที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลมาจากการใช้ภาษาและปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ผู้ใหญ่ถ่ายทอดความรู้และคุณค่าทางวัฒนธรรม ไวกอตสกี้อธิบายว่าความสำเร็จจากความร่วมมือคือพื้นฐานการเรียนการสอนโดยบุคคลที่มีความรู้มากกว่าเป็นตัวเสริมให้ระดับการคิดของเด็กเพิ่มขึ้น นอกจากนี้มันเป็นการค้นพบว่า เมื่อเด็กทำงานร่วมกับผู้อื่นในกิจกรรมการคิดแก้ปัญหาทำให้เด็กประสบความสำเร็จถึงวิธีการแก้ไขได้ดีกว่าที่เขาพยายามแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง การเรียนรู้แบบร่วมมือมักเกิดขึ้นในหลาย ๆ สถานการณ์การเล่น โดยการที่เด็กเล่นไปด้วยกันและทดลองแนวคิดใหม่พร้อมกับใช้ทักษะการคิดหลายด้าน เด็กสามารถเข้าใจสิ่งที่เรียนรู้ด้วยการใช้ทักษะการคิดหลาย ๆ ด้าน บรูเนอร์อธิบายว่า มันเป็นสถานการณ์การเล่นที่เด็กเล็กสามารถทดสอบความคิดของตนเองและความรู้ที่มีอยู่โดยเป็นอิสระจากผู้ใหญ่ แม้ว่าการเรียนรู้เป็นกระบวนการมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ แต่ยังมีองค์ประกอบหนึ่งที่ส่งผลการเรียนรู้คือ แรงจูงใจ กิจกรรมต่าง ๆ ที่มาจากความสนใจของเด็กและแรงจูงใจภายใน จะนำไปสู่ความสำเร็จแห่งการเรียนรู้ (David. 1999 : 4-5) บทบาทของผู้ใหญ่หรือคนที่มีความรู้มากกว่าในฐานะผู้ช่วยเหลือและให้คำแนะนำส่งผลให้เด็กมีระดับการคิดสูงขึ้น
        
        สรุปได้ว่าการคิดและการเรียนรู้ตามแนวคิดทางจิตวิทยามีการปรับเปลี่ยนให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมมาโดยตลอด แนวคิดทางจิตวิทยาที่มีอิทธิพลต่อการจัดการศึกษาในปัจจุบัน คือ แนวคิดของพิอาเจท์ (Piaget) บรูเนอร์ (Brunner) และไวกอตสกี้ (Vygotsky) รูปแบบการเรียนการสอนจึงเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางโดยครูสามารถจัดกิจกรรมให้เด็กได้สืบค้นและทดลอง ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่เด็กได้เรียนรู้จากการลงมือกระทำด้วยการคิด ผู้เรียนมีโอกาสได้แสดงออกในการคิดใช้ทักษะการคิด เรียนรู้แบบร่วมมือ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ค้นพบด้วยตนเอง บทบาทครูในฐานะผู้ช่วยเหลือให้คำแนะนำ ครูควรใช้คำถามที่มีความหมายให้คำอธิบาย พูดคุยกับเด็กอย่างสม่ำเสมอ ปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับผู้เรียน ส่งเสริมให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้เต็มตามศักยภาพของแต่ละบุคคล

บรรณานุกรม



  • ศันสนีย์ ฉัตรคุปต์;และอุษา ชูชาติ.(2545).ฝึกสมองให้คิดอย่างมีวิจารณญาณ. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ : วัฒนาพานิช.







  • อัญชลี ไสยวรรณ. (2548) การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนทักษะการคิดแสวงหาความรู้สำหรับ เด็กปฐมวัย. ปริญญานิพนธ์การศึกษาดุษฎีบัณฑิต.(การศึกษาปฐมวัย). กรุงเทพฯ:บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. อัดสำเนา.







  • David, Tricia.(1999). Young Children Learning. London : Paul Chapman .







  • How Children Learn.(2003).(Online) Available: http://www.Ascd.org/publication/ed_lead/199703/abstracts.htm.Retrieved. April 5, 2003.















  • แหล่งที่มา







  • http://www.e-child-edu.com/youthcenter/content/articles/thinking-learning-of-child.html
  • มาช่วยกันเสริมสร้าง “ความคิดสร้างสรรค์” ให้เด็กไทยกันดีกว่า
    โดย วิวรรณ สารกิจปรีชา 

                ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน พ่อแม่ทุกคนมีความปรารถนาให้ลูกเติบโตอย่างมีคุณภาพและมีอนาคตที่ดี มั่นคง แต่เศรษฐกิจของโลกและของประเทศต่างๆ ขึ้นลงไม่แน่นอนอยู่เป็นนิจ การทำงานใดๆ ในอนาคตจะต้องแข่งขันกันมากขึ้น แล้วอะไรที่จะช่วยลูกเราให้เดินไปสู่ความสำเร็จในชีวิตได้ดีที่สุดหนอ? แน่นอนทักษะต่างๆในการทำงาน ความอดทน ความขยันหมั่นเพียร ความสามารถในการเรียนรู้ ย่อมต้องถูกฟูมฟักให้ลูกๆของเราทุกคน แต่สิ่งที่จะทำให้ลูกของเราแตกต่างและโดดเด่น น่าจะเป็นในด้านความคิดสร้างสรรค์มากที่สุด ถ้าเป็นพ่อค้าความคิดสร้างสรรค์จะช่วยให้สินค้าเป็นที่ต้องตา ต้องใจได้ดีมากขึ้น ความคิดสร้างสรรค์จะช่วยให้ วิธีการขายจูงใจมากขึ้น ถ้าเป็นครูความคิดสร้างสรรค์จะทำให้การเรียนรู้ของเด็กสนุก แปลกใหม่ และเด็กๆเรียนรู้ได้ดีขึ้น ถ้าเป็นเกษตรกรความคิดสร้างสรรค์จะช่วยให้สามารถเพิ่มผลผลิต และการขายผลิตผลจะดลใจผู้ซื้อมากขึ้น หรืออาจจะนำส่วนเหลือของผลิตผลหลักไปทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้มากขึ้นอีก จึงเป็นเรื่องสำคัญมากในการที่จะพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้แก่เด็กตั้งแต่ยังเล็ก แต่ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่คนไทยหลายคนมักจะอ้างว่าไม่มีเพียงพอ ทั้งๆที่ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่สามารถพัฒนาได้ในทุกๆคน ปัจจัยที่ทำให้คนไทยหลายคนคิดว่าตัวเองไม่มีความคิดสร้างสรรค์พอ ก็คือ วิธีการเลี้ยงดูและการศึกษาแบบไทยๆ เด็กดีของผู้ใหญ่ในประเทศไทย คือเด็กที่เชื่อฟังผู้ใหญ่ เด็กที่ว่าง่าย และทำตามที่ผู้ใหญ่วางกรอบไว้ให้ เด็กที่ยกมือถามครูบ่อยๆ มักจะถูกครูตัดบทบาท เด็กที่ทำอะไรผิดไปจากสิ่งที่ครูให้ทำตามปกติถูกกล่าวหาว่าทำผิดหรือทำอะไรแผลงๆ เด็กควรได้รับการส่งเสริมให้เติบโตในกรอบของคุณธรรม แต่ต้องไม่สกัดกั้นความคิดสร้างสรรค์ ไม่สกัดกั้นเสรีภาพที่จะคิด พูด ถามคำถาม ออกความเห็น และได้ลงมือทำในสิ่งที่ตนคิดไปเสียหมด 



                เด็กเล็กก่อนวัยเรียน มีความคิดสร้างสรรค์ติดตัวมาอยู่แล้ว มากบ้างน้อยบ้างตามศักยภาพของแต่ละคน Howard Gardner ได้กล่าวเมื่อมาเยือนประเทศไทยให้บรรดาครูฟังว่าเด็กในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ในช่วงก่อนวัยเรียนเด็กๆได้รับการสนับสนุนให้มีความคิดที่แตกต่าง เล่นอย่างเสรี และไม่ถูกสกัดกั้นที่จะทำในสิ่งที่แตกต่างออกไป แต่เมื่อเด็กเติบโตและอยู่ในช่วงวัยเรียน เด็กๆถูกจำกัดในด้านการแสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์ เพราะเด็กๆจะเข้าใจและจำในสิ่งที่ผู้ใหญ่บอกได้ว่าอย่างไหนถูกต้อง และทำอะไรอย่างไหนผิด ถ้าเมื่อใดปัญหาที่เกิดขึ้นมีคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียว และกฎระเบียบทำให้การปฏิบัติตนของเด็กต้องดำเนินไปเหมือนกันหมด ความคิดสร้างสรรค์ก็จะถูกผลักห่างออกไป ดังนั้นผู้ใหญ่ควรตระหนักว่าความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นได้ดีในบรรยากาศสิ่งแวดล้อมที่สร้างสรรค์เท่านั้น มีวิจัยหลากหลายที่สรุปได้ว่าบรรยากาศที่ไม่มีกฎระเบียบมากเกินไป และบรรยากาศที่ยอมรับและยกย่องเสรีภาพจะช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างมาก 



                 สำหรับเด็กเล็กแล้ว การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ควรมุ่งไปที่กระบวนการมากกว่าผลิตผลหรือตัวบุคคล เช่น การพัฒนาส่งเสริมความคิดที่แปลกใหม่ เป็นต้น ผู้ใหญ่ควรคิดแยกแยะความคิดสร้างสรรค์ออกจากความฉลาดและความสามารถพิเศษ คนที่มีความคิดสร้างสรรค์สูงไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ฉลาดมาก และความคิดสร้างสรรค์ไม่มีปรากฏให้เห็นเฉพาะในดนตรี ศิลปะ หรือผลงานการเขียนเท่านั้น แต่ความคิดสร้างสรรค์มีปรากฏให้เห็นได้ในทุกวิชาที่มีกำหนดในหลักสูตร ทั้งในวิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา และอื่นๆ ในเด็กเล็กๆการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ควรเริ่มจากการส่งเสริมความคิดที่หลากหลาย และการแสดงออกตามความคิดต่างๆเหล่านั้นหลายวิธีเด็กๆควรได้รับการส่งเสริมให้ประเมินตนเองมากกว่าที่จะถูกประเมินโดยผู้อื่น เด็กๆควรรับรู้ว่า การแก้ปัญหาใดก็ตามไม่ได้มีเพียงวิธีเดียว เด็กๆควรได้รับการส่งเสริมให้สำรวจออกความเห็น ทดลองและแก้ปัญหาด้วยวิธีที่หลากหลายด้วยตัวเด็กเอง บรรยากาศที่เด็กไม่กลัวว่าคำตอบของตนอาจจะผิด จะช่วยเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี 



                 การให้รางวัลเพื่อจูงใจเด็กๆมักจะมีผลลบกับการคิดสร้างสรรค์ เช่นเดียวกับการกำหนดกฎเกณฑ์ผิด-ถูกกับเด็กในการทำกิจกรรมต่างๆ ผู้ใหญ่ต้องรับรู้ว่าเด็กต้องการการยอมรับคำตอบและ หรือความคิดเห็นที่เด็กเสนอ จากบุคคลรอบข้างทั้งเด็กและผู้ใหญ่ อีกทั้งเด็กๆต้องได้รับโอกาสที่จะทดลองตามความคิดของตัวเองด้วย 



                 การให้รางวัลไม่มีผลต่อการให้ความคิดเห็น แต่จะทำให้คุณภาพของคำตอบหรือการตอบสนองของเด็ก และการคิดที่แตกต่างไปจากแนวคิดที่มีอยู่ลดลง ความสามารถในการคิดเชื่อมโยงจากแนวทางหนึ่งไปยังอีกแนวทางหนึ่งจะลดลง เพราะเด็กอยากได้รับการชมเชยจึงคิดและเลือกที่จะตอบในเฉพาะแนวทางที่จะได้รางวัลเท่านั้น ดั้งนั้นการมีความต้องการด้วยตนเองที่จะคิดสร้างสรรค์ย่อมดีกว่าและควรได้รับการส่งเสริมมากกว่า ถ้าพวกกิจกรรมต่างๆที่เด็กได้ลงมือกระทำ สำรวจ สืบค้น ทดลองนั้น มีความหมายและเกี่ยวข้องกับประสบการณ์เดิมของเด็กกับชีวิตประจำวันของเด็ก โอกาสที่จะช่วยให้เด็กได้เห็นและเรียนรู้ในสิ่งที่เกี่ยวพันกันระหว่างสิ่งต่างๆและวิชาต่างๆ หลายวิชาในหลักสูตรจะเพิ่มพูนขึ้นอย่างมาก การเรียนรู้แบบดังกล่าวจะช่วยให้เด็กเกิดความคิดที่หลากหลาย มีความคิดริเริ่ม และเรียนรู้อย่างเข้าใจได้ง่ายมากขึ้น 


                 การสำรวจ สืบค้น อย่างลึกซึ้งและไปได้เนิ่นนานกับงานที่เป็นลักษณะเปิดกว้าง ไม่จำกัดคำตอบที่ถูกต้อง จะช่วยส่งเสริมให้เด็กอยากเรียนรู้ และช่วยเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ได้ดี ผู้ใหญ่ควรทำตนเป็นเสมือนผู้ให้การสนับสนุนตามความคิดของเด็ก เป็นผู้ตั้งคำถามปลายเปิด เป็นผู้ช่วยนำทางและทำงานเป็นสมาชิกของกลุ่มเด็กๆในการสำรวจสืบค้น ผู้ใหญ่สามารถรับรู้ได้ว่าควรจะปฏิบัติตนอย่างไรในการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้แก่เด็ก ในการตอบสนองความคิดของเด็กๆ ในการรู้ว่าควรจะส่งเสริมสนับสนุนเด็กๆให้ทำสิ่งที่ท้าทายหรือเสี่ยงต่อความผิดพลาดเมื่อใด และจะไม่เข้าไปรบกวนเด็กๆเมื่อใดโดยการรับฟังเด็กๆอย่างตั้งใจและสังเกตอย่างละเอียด ผู้ใหญ่ควรจะตระหนักว่าจังหวะในการส่งเสริมและวิธีการส่งเสริมจะต้องเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์และพัฒนาการ ความสามารถของเด็กแต่ละคนเสมอ ดังนั้นความเอาใจใส่ของครูและผู้ปกครองจะช่วยเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ให้แก่เด็กไทยของเราได้เป็นอย่างดี 


    แหล่งที่มา
    http://www.preschool.or.th/article_kindergarten/journal_create.html