วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2554


     มนุษย์ถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ เป็นของขวัญที่ธรรมชาติได้กำหนดให้มนุษย์เป็นผู้สร้างมนุษย์ให้กำเนิดเกิด ขึ้นมาอีกที ความซับซ้อนในธรรมชาติของมนุษย์จึงส่งผลถึงสมองที่เป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุด ของมนุษย์เรา สมองถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางในการควบคุมกลไกในการทำงานทุกส่วนของร่างกาย ฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างมากที่จะต้องให้ความสำคัญกับสมอง มนุษย์จึงได้คิดค้นหลากหลายวิธีที่จะมาเป็นตัวช่วยในการพัฒนาสมองให้มีความ เติบโตเจริญก้าวหน้าไปพร้อมกับร่างกายที่ก็ต้องเจริญเติบโตด้วยเช่นกัน ฉะนั้นสมองจึงเป็นเหมือนตัวเอกที่สำคัญไม่แพ้หัวใจที่จะต้องมีการลื่นไหลไป พร้อมกัน ตรงนี้นี่เองจึงได้มีวิธีที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของสมองให้ดีมากขึ้น ด้วยการใช้ดนตรีมาเป็นตัวช่วยให้เด็กได้มีการพัฒนาการทางด้านสมอง



          หากจะบอกว่าดนตรีคือชีวิต และชีวิตคือดนตรีก็คงไม่ผิดนัก เพราะมนุษย์สามารถรับรู้เสียงได้ตั้งแต่ตอนอยู่ในครรภ์มารดา ทารกจะรับรู้และได้ยินเสียงได้ทั้งจากภายนอกและภายในครรภ์ของแม่ได้ ซึ่งเสียงที่ได้ยินจากภายนอกก็เช่น เสียงของคุณพ่อคุณแม่ที่พูดคุยกับลูก และการเปิดเพลงเบาๆ ที่ฟังสบายๆ ให้ลูกได้ฟังตั้งแต่ตอนที่อยู่ในครรภ์ เสียงเหล่านี้จะถูกส่งผ่านเป็นคลื่นเสียงเข้าไปถึงลูก ลูกก็จะรับรู้สิ่งที่ได้ยินนั้นเรียกว่า คลื่นเสียง ส่วนเสียงที่ทารกจะได้ยินจากภายในนั้นก็เช่น เสียงเต้นของหัวใจ ได้ยินเสียงที่เกิดจากเลือดไหลในหลอดเลือดเข้ามาที่มดลูกตลอดเวลา บางครั้งก็ได้ยินเสียงน้ำจ้อกแจ้กจากกระเพาะของแม่ เสียงต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้ลูกได้มีประสบการณ์ขั้นต้น เกี่ยวกับเสียงดนตรี สำหรับเสียงดนตรีที่ลูกได้ยินอยู่ตลอดเวลาตอนที่ยังอยู่ในท้องนั้นก็คือ เสียงการเต้นของหัวใจแม่ และพอทารกคลอดออกมาเสียงแรกที่ลูกจะคุ้นมากที่สุดก็คือเสียงเต้นของหัวใจแม่ ขณะที่ลูกดูดน้ำนมจากอกแม่ จะเห็นได้ว่าสมองของลูกได้ถูกพัฒนามาโดยตลอดตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เริ่มรับรู้สิ่งที่ได้ยินเป็นแบบคลื่นเสียง จนกระทั่งเมื่อแม่ได้ให้กำเนิดคลอดลูกออก หากลูกได้มีการพัฒนาต่อเกี่ยวกับของเสียงดนตรี สมองของลูกก็จะถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนอาจพูดได้ว่าไม่มีที่สิ้นสุด เพราะเสียงทุกอย่างที่ได้ยินนั้นถ้าฟังดีๆ ก็คือเสียงดนตรีนั่นเอง


ดนตรีกับสมองเกี่ยวกันอย่างไร

          คงทราบกันดีอยู่แล้วว่าสมองของคนเรานั้นมีหน้าที่ในการคิด และควบคุมการทำงานของร่างกาย โดยสมองแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ สมองซีกซ้าย กับ สมองซีกขวา ซึ่งก็มีบทบาทและหน้าที่ที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
สมองซีกขวา มีบทบาทในการรับรู้และตอบสนอง มีจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ มีดนตรีและศิลปะ การคิดค้นรูปแบบใหม่ๆ รวมถึงสมองซีกขวายังควบคุมการทำงานของร่างกายซีกซ้ายอีกด้วย
สมองซีกซ้าย มีบทบาทในการรับรู้ตอบสนอง และคิดในเชิงเหตุผล มีการลำดับขั้นตอนในการทำงาน เรื่องของคณิตศาสตร์ การพูด และรวมถึงสมองซีกซ้ายยังควบคุมการทำงานของร่างกายทางซีกขวาอีกด้วย


     ฉะนั้นการเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ของสมองทั้งสองซีกจะรับรู้และมีบทบาทร่วมกัน เพื่อนำมาบูรณาการการรับรู้ หรือการกระทำให้ครบถ้วนสมบูรณ์แบบ ในส่วนของดนตรีที่มาเกี่ยวข้องต่อการพัฒนาสมองนั้นได้มีการศึกษาว่าดนตรี ช่วยพัฒนาสมองทั้งสองซีก คือทั้งสมองซีกซ้ายและสมองซีกขวา ดนตรีมีอิทธิพลต่อการรับรู้ ดนตรีที่มีจังหวะฟังสบายๆ นั้นมีโครงสร้างซับซ้อน ทำให้การรับรู้สิ่งต่างๆ ของสมองนั้นง่ายขึ้น ดนตรีมีส่วนช่วยพัฒนาเชาว์ปัญญาในเด็กเล็กๆ จากการทดลองของ ดร.ฟรานซิส เราน์เชอร์ รองศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ออธโดช ในเด็กอายุระหว่าง 3-4 ปี โดยแบ่งให้เด็กทั้งสองกลุ่มคือ กลุ่มแรกมีกิจกรรมประกอบดนตรี และกลุ่มที่สองไม่มีกิจกรรมประกอบดนตรี พบว่าเด็กกลุ่มแรกมีการรับรู้ทางเชาว์ปัญญาได้ดีกว่า หลังจากที่ได้ทำการทดลอง 4 เดือน นอกจากนี้การศึกษาดนตรี ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎเกณฑ์ต่างๆ นั้นก็ช่วยให้สมองซีกซ้ายพัฒนาไปด้วย จะเห็นได้ว่าดนตรีมีส่วนช่วยพัฒนาสมองทั้งสมองซีกซ้ายและสมองซีกขวา



งานวิจัยทางดนตรี ที่พบว่าดนตรีมีส่วนช่วยพัฒนาสมองเด็ก

        ดร.ฟรานซิส เราน์เชอร์ เจ้าของงานวิจัย “Mozart Effect” ที่ค้นพบว่าเพลงของโมสาร์ททำให้สติปัญญามนุษย์ในส่วนของมิติสัมพันธ์เพิ่ม ขึ้น เผยว่าแรกเริ่มนั้นตัวเขาจบปริญญาตรี ด้านดนตรีเอกเชลโล่ ก็ตั้งข้อสงสัยว่าทำไมถึงชอบดนตรีเป็นพิเศษ จึงศึกษาต่อด้านจิตวิทยา กระทั่งค้นพบทฤษฎีดังกล่าว แต่โดยส่วนตัวแล้วตนเป็นคนที่ฟังเพลงได้ทุกแนว คุณพ่อของเขาก็เล่นดนตรีแจ๊ส งานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้บังคับให้ทุกคนฟังเพลงของโมสาร์ท และไม่ต้องการให้ยึดติดกับคำว่าโมสาร์ท เพราะดนตรีแต่ละท้องถิ่นต่างก็มีอิทธิพลต่อคนฟังทั้งนั้น แต่หากต้องการพัฒนาด้านการรับรู้นั้น พ่อแม่จะต้องให้เด็กคุ้นเคยกับดนตรีต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 2 ปี และต้องเริ่มก่อนเด็กอายุ 7 ขวบ เพราะเป็นช่วงที่สมองจะมีการเชื่อมโยง และแตกแขนงในส่วนที่ใช้งานเพื่อการพัฒนาได้เป็นอย่างดี


        ดร.ฌอน ฮินตัน นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องบทบาทของดนตรีที่มีผลต่อโครงสร้าง และการทำงานของสมองมนุษย์ ได้เปรียบเทียบว่านักดนตรีที่ได้มีการฝึกฝนมาตั้งแต่เด็กก่อนวัย 7 ขวบ จะมีเยื่อประสาทใหญ่กว่าของคนที่ไม่ใช่นักดนตรี ส่วนในเพลงโมสาร์ทนั้นเป็นดนตรีคลาสสิกที่เหมือนสมการเลขเชิงคณิตศาสตร์ มีมุมมอง ความกว้าง ยาว สูง และช่วงเวลา โดยอธิบายออกมาทางตัวโน้ตดนตรีได้อย่างสลับซับซ้อนแต่ลงตัว



       ดนตรีนอกจากจะทำให้มนุษย์ได้เพลิดเพลินแล้ว ดนตรีก็ยังเป็นตัวช่วยสำคัญที่ส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาสมองของเด็ก และยิ่งถ้าหากคุณพ่อคุณแม่ได้เริ่มการพัฒนาสมองของลูกตั้งแต่ลูกยังอยู่ใน ครรภ์ก็จะยิ่งเป็นผลดีต่อตัวเด็กเอง และ “ดนตรีมีส่วนพัฒนาสมอง” อย่างไร ดร.สุกรี เจริญสุข ผู้อำนวยการวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางด้านดนตรีจะมาถ่ายทอดถึงเรื่องของดนตรีให้ทราบกัน ค่ะ



ดนตรีมีส่วนช่วยพัฒนาสมองของเด็กได้อย่างไร

       ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าดนตรีเป็นเรื่องของเสียง เสียงเป็นสิ่งแวดล้อม เด็กที่อยู่ในท้องของแม่นั้นก็มี DNA มาจากพ่อกับแม่ ฉะนั้นเด็กคลอดออกมาแล้วเด็กก็จะเป็นลูกของสิ่งแวดล้อม แล้วสิ่งแวดล้อมที่เรามองไม่เห็นนั้นก็คือ เสียง ซึ่งจะอยู่กับเด็ก 24 ชั่วโมงตลอดเวลาเลย พัฒนาการของสมองก็จะเกี่ยวข้องกับเสียง เพราะเสียงเป็นเรื่องของความเคลื่อนไหว เสียงเป็นพลังงาน เมื่อเสียงเป็นพลังงานเป็นคลื่นเสียง เป็นประจุไฟฟ้า เสียงมีอำนาจก็จะทำให้เกิดความเคลื่อนไหว ความเคลื่อนไหวที่เกิดจากเสียงก็จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงก็จะทำให้เกิดการพัฒนา เมื่อมีการพัฒนาขึ้นแล้วก็จะมีการเจริญต่อไปได้ เข้าใจให้ง่ายเลยก็คือ ถ้าไม่มีเสียงเด็กก็จะไม่พัฒนา เพราะว่าพลังงานก็ไม่ทำงาน


ควรที่จะให้ดนตรีกับเด็กตั้งแต่ตอนไหน

        ดนตรีนี้ให้กันมาตั้งแต่เด็กอยู่ในท้องของแม่แล้วครับ แม่ให้ลูกฟังดนตรีแล้วแม่ก็ลูบท้องเป็นจังหวะเบาๆ ไปด้วย เพราะว่าความเคลื่อนไหวเหล่านี้ทำให้เกิดการพัฒนา ทำให้เกิดการสร้างความเจริญ เมื่อแม่คลอดลูกออกมาแล้วแม่ให้ฟังเพลง แม่พูดจาเพราะๆ ให้ลูกฟัง สอนลูกด้วยการร้องเพลงให้ลูกฟัง คือเป็นการสอนโดยการเอาเสียงให้ลูกฟังด้วยความรัก ความชอบ ลูกก็จะเติบโตขึ้นมาด้วยความอบอุ่น


ดนตรีที่เหมาะกับเด็ก

     ดนตรีที่ให้เด็กฟังนั้น ส่วนหนึ่งเป็นดนตรีที่แม่เลือกมาแล้วว่าดีและเหมาะกับลูก คือแม่ได้เลือกได้คัดสรรมาแล้ว แม่อยากฟังอะไรแม่ชอบเพลงอะไรเห็นว่าดีก็จะนำไปให้ลูกฟัง ดนตรีในส่วนนี้จะเป็นดนตรีที่ผมคิดว่าแม่ทุกคนย่อมหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับ ลูกครับ ดนตรีดีๆ ของแม่คือดนตรีดีๆ ของลูก ในเมื่อแม่ได้เลือกแล้ว และก็เป็นดนตรีที่แม่ชอบ ไม่ว่าจะดนตรีชนิดไหนก็ใช่ก็เหมาะกับลูกทั้งนั้นครับ เพราะแม่ทุกคนย่อมต้องการสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกของตนเองอยู่แล้ว


ดนตรีที่ให้กับเด็กจำเป็นว่าจะต้องเป็นเพลงของโมสาร์ทหรือเปล่า

        ดนตรีที่ให้กับเด็กนั้นได้ทุกแนวครับ ตั้งแต่ดนตรีหมอลำจนกระทั่งดนตรีคลาสสิก แต่คำว่า คลาสสิก คนส่วนใหญ่มักที่จะเข้าใจว่าเป็นดนตรีชั้นสูง สำหรับผมอะไรก็ตามที่ละเอียดนี่คลาสสิกหมด ความละเอียดคืออย่างพ่อแม่ร้องเพลงให้ลูกฟังด้วยความรักและความผูกพัน (ตรงนี้คลาสสิกมาก) พ่อแม่จะไม่ร้องเพลงให้คนอื่นฟัง แต่จะร้องให้ลูกฟังเพียงคนเดียวเพราะลูกคือคนที่พิเศษที่สุดสำหรับชีวิต แล้วเพลงที่พ่อแม่ร้องกล่อมลูกก็มาจากหัวใจ ฉะนั้นตรงนี้คลาสสิกครับ คลาสสิกแปลว่า ละเอียดอ่อน ละมุนละไม ตั้งใจ และทำด้วยความรู้สึกเต็มพิกัดครับ


พ่อแม่จะพัฒนาสมองลูกด้วยดนตรีอย่างไร

      ให้เริ่มจากความรักก่อนครับ เริ่มจากความรักแล้วก็ร้องเพลงที่ดีให้ลูกฟัง กล่อมลูกให้นอนตบก้นลูกเบาๆ ด้วยความทะนุถนอม เป็นจังหวะ สัมผัสที่เกิดจากความรู้สึก ความรู้สึกที่สัมผัสด้วยความละมุนละไมที่เป็นความอบอุ่น ทั้งหมดนี้ก็คือดนตรีที่เกิดขึ้นไม่รู้จบและสามารถพัฒนาสมองของลูกได้แบบ ง่ายๆ จากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่พ่อแม่สามารถจะให้กับลูกได้


     ดนตรีคงจะไม่ใช่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของการสร้างสีสัน หรือความบันเทิงใจให้กับชีวิตเท่านั้น แต่ดนตรีเป็นเรื่องที่ถ้าหากพ่อแม่ได้ใส่ใจแล้วปลูกฝังให้กับเด็กๆ ตั้งแต่ยังเล็กอยู่นั้น ก็จะสามารถช่วยพัฒนาความสามารถของเด็กได้หลายด้าน เช่น ด้านภาษา ด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เป็นต้น แต่ทั้งนี้การให้จังหวะดนตรีเพื่อมาพัฒนาสมองของลูก ก็ต้องมาพร้อมกับจังหวะหัวใจของพ่อแม่ที่รักลูกแบบถูกทาง และเป็นไปตามความเหมาะสม เพื่อลูกจะได้พัฒนาไปในทางที่ดีได้


แหล่งที่มา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น